Pages

วันอังคาร, ธันวาคม 27, 2554

ถกเถียงกัน ของขวัญให้ครู

สองสามวันมานี้ได้ถกเถียงกับคนเป็นพ่อแม่บางคนเรื่องการให้ของขวัญคุณครู ว่ามันถือเป็น 'สินบน' หรือ 'สินน้ำใจ' และควรให้หรือไม่ควรให้ บางคนบอกว่ามันเหมือนกับหน้าที่ของพนง.ขายที่ต้องนำของขวัญไปมอบให้ลูกค้าทุกสินปีนั่นแหละ ฉั้นบอกว่ามันไม่เหมือน เพราะลูกค้าให้เงินเดือนเราด้วยการซื้อของของบริษัทเรา บริษัทต้องตอบแทนบ้างไรบ้างเป็นหน้าที่ แต่เค้าบอกว่าการให้ของขวัญคุณครูก็เป็นหน้าที่พ่อแม่ต้องตอบแทนเพราะหวังให้ดูแลลูกเล็กๆของเราให้ดี ถือเป็นวิธีเดียวกันไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร แต่ฉั้นไม่เห็นด้วยและมองว่า มันเป็นคนละภาระหน้าที่ การเป็นพ่อแม่ควรสามารถพิจารณาได้ว่า ควรให้หรือไม่ควรให้ เพราะฉั้นเชื่อว่า สำหรับพ่อแม่ที่ต้องจ่ายค่าเทอมให้โรงเรียน ก็ต้องหวังอยากให้้คุณครูทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี และคุณครูที่ดีก็ควรทำหน้าที่โดยไม่หวังผลตอบแทน หากครูทำหน้าที่ได้ดีการขอบคุณด้วยของขวัญเล็กๆน้อยๆในวันครูก็ดูเหมาะสม แต่ไม่ใช่การให้เพื่อจ้างวานเป็นพิเศษและให้ในเทศกาลพิเศษและในรูปแบบและปริมาณที่แตกต่างกันไป

ฉั้นไม่ได้เติบโตมากับสังคมแบบที่พ่อแม่ต้องไปจ่ายค่าอานิจสินจ้างอะไรเป็น 'สินบน' เพื่อให้ลูกๆได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การถกเถียงกันเรื่องนี้มันเลยกัดกร่อนหัวใจฉั้นมาก เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า ค่านิยมการให้และรับ 'สินบน' และ 'สินน้ำใจ' นั้น เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ไปแล้วสำหรับพ่อแม่บางคน แถมหลายคนมองว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน จะให้แบบ สินน้ำใจ ตามสมควร ตามกำลัง หรือจะให้แบบ สินบน แล้วบอกว่านั่นคือ สินน้ำใจ ก็ไม่แปลก ซึ่งแบบหลังนี้น่ากลัวเพราะมันทำให้ครูเสียนิสัย ที่สำคัญโรงเรียนที่ดีควรเปิดโอกาสให้ครูแบมือรับสินบนหรือสินน้ำใจหรือไม่ เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าคุณครูที่รับสินน้ำใจจากเราและก็รับสินบนจากคนอื่นจะดูแลเด็กๆอย่างเสมอภาค ทุกคนต่างก็จ่ายและจ่าย ให้และให้ จนทุกคนตกอยู่ในสภาพการแข่งขันแบบไม่เต็มใจโดยมี "ลูกๆ" เป็นข้อต่อรองอยู่ในกำมือครู ความกลัวและกังวลว่าลูกจะไม่ได้รับการดูแลจึงต้องหอบหิ้วของขวัญไปกำนัลคุณครูเพื่ออย่างน้อยให้พ่อแม่รู้้สึกโล่งใจขึ้นหนึ่งเปราะ เด็กๆไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยหรอกแต่ต้องเติบโตมาในสังคมที่พ่อแม่นี่แหละสร้างค่านิยมคอร์รัปชั่นขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนที่ส่งลูกหลานไปเรียนแล้วโดยมีครูบาอาจารย์เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจ 

ฉั้นไม่ได้เป็นคนใจร้ายใจดำ หรือแล้งน้ำใจอะไร แต่ถ้าเราแยกแยะในเรื่องศิลธรรมและการทำหน้าที่ของตัวเองได้ออก มีกฏระเบียบรองรับชัดเจน คนเข้าใจและเคารพในกฏนั้น ทุกคนจะทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่หวังผลตอบแทนและทุกคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม เหมือนในประเทศนิวซีแลนด์ที่ ตำรวจไม่รับเงิน พนักงานสถานทูตไม่รับของขวัญ คนเคารพกฏหมายและกฏระเบียบสังคม ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองตามเงินเดือนที่ตัวเองได้รับ และรับผิดชอบสังคมด้วยการจ่ายภาษีในอัตราเท่ากัน ไม่มีการคอร์รัปชั่นเกลื่อนเมือง แถมยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

ไม่แปลกใจเลยที่สถิติของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ปี 2552 จาก 178 ประเทศ ประเทศไทยจึงรั้งท้าย ตกอยู่อันดับที่ 78 ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยมาก

ประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุด คือ
1.  เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เป็นกลุ่มประเทศที่ครองตำแหน่งที่หนึ่งร่วมกัน รวม 9.3 คะแนน 
4.  ฟินแลนด์ และสวีเดน 9.2 คะแนน 
6.  แคนาดา 8.9 
7.  เนเธอร์แลนด์ 8.8 คะแนน 
8.  ออสเตรเลีย และสวิสเซอร์แลนด์ 8.7 คะแนน 
10.  นอร์เวย์ 8.6 คะแนน
................
................
ประเทศไทย คะแนน 3.5 อยู่อันดับที่ 78
ปี 2552 ประเทศไทยอยู่อันดับ 84 คะแนน  3.4

เอ...แล้วอย่างงี้คนไทยมีความสุขกันมากน้อยแค่ไหน ฉั้นอยากรู้จัง?

ปี 2551-2552 สถิติพบกว่าคนไทยมีสุขภาพจิตอยู่ในระดับปกติเหมือนคนทั่วไป (27-34 คะแนน) และยังพบว่ามีคะแนนสุขภาพจิตที่จัดว่าอยู่ในระดับดี (มากกว่า 34 คะแนน) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.7 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 37.7 ในปี 2552 แสดงว่าคนไทยมีความสามารถในการปรับตัวเป็นเลิศ รับได้กับทุกสถานการณ์ ทั้งเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โอ้วว....คนไทยชนะเลิศ แต่หากพิจารณาคะแนนสุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ในเขตเมืองแม้อยู่ในระดับปกติแต่ลดลงจาก 32.6 คะแนน ในปี 2551 เหลือ 31.7 คะแนน ในปี 2552 ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ และสถานการณ์บ้านเมืองที่ตึงเครียด จึงทำให้คะแนนสุขภาพจิตของคนในเขตเมืองลดลงเล็กน้อย นี่คงหมายความว่าแม้คนไทยโดยรวมจะสามารถปรับตัวไปตามสังคมโดยไม่ยึดติดอะไรใดๆได้เก่งแล้ว แต่คนในสังคมเมืองก็ยังตึงเครียดอยู่มากเหมือนกัน (แหล่งข้อมูล: มองไทย...หลังวิกฤตเศรษฐกิจ)

แต่สิ่งที่ไม่น่าดีใจเลยก็คือ คนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเยอะมากด้วย ปี 2552 คนไทยมีหนี้มากขึ้นถึง 60.9% 
เพราะคนไทยมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่
- ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 34.2% (ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.4) 
- ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 20.1%
- ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 17.7%
- ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้า 5.4% 
- ใช้ในการสื่อสาร 3.1%
- ใช้ในการบันเทิง/การจัดงานพิธีและในการศึกษา 2.3%-2.1%
- ค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาล 1.9%
- กิจกรรมทางศาสนา 1.1%
แต่ที่สูงจนอึ้งก็คือ 12.1% - เป็นค่าภาษีของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย และหนี้สินเกิดจากซื้อบ้าน/ที่ดิน

จริงๆฉั้นก็ไม่รู้หรอกว่า ตกลงเราควรตอบแทนคุณครูด้วยอะไรดี รู้แต่ว่าคุณครูที่ดีจริงๆอาจดูแลเด็กๆด้วยใจ บางทีเค้าอาจไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทนก็เป็นได้ แค่พานพุ่มและกราบงามๆตามธรรมเนียม หรือของขวัญเล็กๆน้อยๆก็คงปลาบปลื้มแล้ว อยากให้คนเป็นพ่อแม่สามารถพิจารณาให้ลูกได้ว่าการให้ในลักษณะไหนคือการขอบคุณ และลักษณะไหนคือการจ้างวานเป็นกรณีพิเศษ

สุดท้ายไม่ว่าการตอบแทนและการให้จะเกิดจากใจ การแข่งขัน หรือความกลัวก็ตาม ฉั้นว่าการที่ไม่มีกฏระเบียบกำหนดชัดเจนในการรับและการให้ในลักษณะนี้ มันก็จะต้องขึ้นอยู่กับ วิจารณญาณและสามัญสำนึก แต่ธรรมชาติของคนไทยก็มักทำอะไรเพื่อให้ตัวเองสบายใจเป็นหลักก่อน แถมสิ่งที่แปลกอยู่อีกอย่างก็คือ สิ่งที่คนเกลียดและกลัวมากที่สุด ก็คือไอ้คำว่ากฏระเบียบนี่แหละ ไม่รู้ทำไม!! 

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2/1/55 07:56

    I love you with all my heart, forever and ever.....
    Your husband.

    ตอบลบ
  2. I love you with all my heart forever too. This is so sweet!! :D

    ตอบลบ

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...