Pages

วันเสาร์, กรกฎาคม 16, 2554

ไปอยู่ เซา เปาโล, บราซิล


เอาล่ะ จากโพสต์ที่แล้วเพียงแค่มาเที่ยวหรือมาทำธุระแค่ช่วงสั้นๆ โพสต์นี้สำหรับใครที่มาถึงเมืองเซา เปาโลแล้วและตั้งใจจะอยู่นานๆด้วยภาระกิจบางอย่าง ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องยื่นขอวีซ่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากได้ติดต่อกับสถานทูตบราซิลในเมืองไทยมาก่อนน่าจะดีกว่าเพราะอย่างน้อยที่นั่นก็สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษหรือไทยได้(ขอข้ามเรื่องรายละเอียดการทำวีซ่าไป) เอาเป็นว่าเมื่อได้วีซ่ามาแล้วก็จะถือเป็นการลงทะเบียน คนต่างด้าว เราจะได้รับตราแสตมป์ไว้ใน passport พร้อมกับหมายเลขคนต่างด้าวของเรา เรียก RNE Number เพื่อจะมีสิทธิ์ได้รับ CPF Number (หรือ Income-Tax Identification Number) ใช้ในการเปิดบัญชีธนาคาร, เปิดบัตรเครดิต, ซื้อมือถือ ซื้อสมุดเช็ค หรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆได้ เหมือนกับการมีเลขที่บัตรประจำตัวผู้เสียภาษียังไงยังงั้นหรือคล้ายกับเลขที่บัตรประชาชน แต่ถ้าไม่มีสองอย่างที่ว่า จะสามารถอยู่ได้อย่างเดียวเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ก็ถือวีซ่านักท่องเที่ยว 90 วันกันไป ซึ่งก็เหมือนกับทุกประเทศ เพียงแต่ในหลายๆประเทศเราต้องดำเนินการขอวีซ่าล่วงหน้าก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศเค้านั่นเอง 


อีกเรื่องสำหรับคนที่ต้องมาอยู่นานๆ อาจต้องการเช็คเรื่องที่พักอาศัยและที่เรียนภาษาบราซิลเลี่ยน โปรตุกีซ 


ที่พักอาศัยในเมือง เซา เปาโล มีมากมายหลายโซน แต่จะเลือกอยู่ในโซนไหนยังไงนั้น อาจต้องลองพิจารณา 2 ทางเลือก
1. ใกล้แหล่งธุรกิจ/แหล่งช้อปปิ้ง/ร้่านอาหาร
  • Moema: ราคาปานกลาง-สูง สะดวกสบายเพราะมีร้านค้า ร้านอาหารมากมาย ใกล้ Domestic Airport, ใกล้ห้างฯ  Shopping Mall Ibirapoera(อิบิราโปเอร่า)
  • Morumbi, Campo Belo: ราคาปานกลาง-สูง ใกล้โรงเรียน, โรงพยาบาล, ใกล้ชุมชนแออัดโมรุมบี, ใกล้ Domestic Airport และห้างฯ Shopping Mall Morumbi(โมรุมบี)
  • Jardim(America, Europa): ใกล้ Business Streets อย่างถนน Jardim Paulista และ Shopping Streets อย่างถนน Pinheiros(ปิงเยโร่ส) น่าอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบ้าน(หลังใหญ่ๆ)คอนโดฯหรืออพาร์ตเม้นท์จะราคาค่าเช่าค่อนข้างสูง 
  • Itaim Bibi, Vila Nova Conceição, Vila Olimpia, Brooklin: เป็นโซนธุรกิจ, ใกล้ Office Buildings มากมาย, ราคาสูง-สูงมาก, ใกล้ห้างฯ Shopping Mall Morumbi(โมรุมบี), ห้างเล็กๆอย่าง Vila Olimpia และไม่ไกลจากห้างฯหรูอย่าง Shopping Mall Iguatemi(อีกวาเตมี) และ ร้าน Shoes Stock ร้านใหญ่ด้วย
2. ใกล้ย่าน Downtown และแหล่ง Asian Store
  • Higienopolis แหล่งที่อยู่อาศัยและคอมมิวนิตี้ชาวยิว เป็นแหล่งปลอดภัยและเงียบสงบ น่าอยู่ มีห้างสรรพสินค้าน่าเดินอย่าง Patio Higienopolis และร้านค้า ร้านอาหารมากมาย
สิ่งที่อาจเป็นภาระหนักคือ การตระเวนหาด้วยตัวเองหากพูดภาษาโปรตุกีซไม่ได้ คงเป็นเรื่องยากลำบากมาก และค่าเช่าหากเป็นในตัวเมืองเซาเปาโล(ย่านธุรกิจ)ด้วยแล้ว ราคาค่าเช่ารายเดือนมันจะเริ่มต้นอย่างต่ำสุด อาจเริ่มต้นที่ 2,000Reais หรือ 38,000บาทขึ้นไป แต่คงไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ผู้คนส่วนมากไม่ค่อยนิยมอาศัยอยู่บ้านเพราะไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย หากพอมีรายได้หน่อยจึงมักเลือกอยู่ในคอนโดฯ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนาซึ่งมาตรฐานทั่วไปของที่นี่ คือ คอนโดฯที่มีรั้วรอบขอบชิด (บางที่อาจเพิ่มอีกชั้นด้วยลวดที่มีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่) ระบบประตูทางเข้า-ออกไฮโดรลิคสองชั้นควบคุมการปิด-เปิด โดย Security Guard ตัวล่ำๆหน้าดุๆ และเจ้าหน้าที่ในห้อง Control Room ตลอด 24 ชั่วโมง, แยกกันระหว่าง สำหรับผู้อยู่อาศัย/แขก และ ผู้อื่น และทางเข้า-ออกต่างหากอีกทางสำหรับลานจอดรถ ส่วนลิฟท์ ก็จะแยกระหว่างลิฟท์ผู้อยู่อาศัย/แขก ที่ส่งตรงถึงหน้าประตูห้องใครห้องมันทางด้านหน้าของอาคาร และ Service ลิฟท์ สำหรับ ผู้อื่น ซึ่งจะอยู่ด้านหลังของอาคารส่งขึ้นด้านหลังของห้อง ก่อนเข้าออกทุกคนที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยจะต้องถูกสอบถามจาก เจ้าหน้าที่ด้านล่างก่อนเพื่อโทรขึ้นมาถามเจ้าของห้องว่ารับทราบและอนุญาตให้เข้าหรือไม่ ไม่มีข้อยกเว้น นอกจากจะเป็นคนที่เข้า-ออกเป็นประจำจนจดจำหน้าได้และเจ้าของห้องอนุญาตไว้แล้วเท่านั้น เจ้าหน้าที่ก็จะปลดล้อกประตูไฮดรอลิคให้เข้ามาได้โดยไม่ต้องถามไถ่ซ้ำอีก


บ้านเรือนที่นี่ ก็ปลูกสลับกันไประหว่าง คอนโดฯ บ้าน อาคารสำนักงาน และสลัม ไม่มีการจัดระเบียบอะไรที่แน่ชัด พูดให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็เช่น ถ้าออกจากสนามบินนานาชาติปุ๊บก็จะเห็นสลัมอยู่ฝั่งตรงข้ามปั๊บ หรือ ระหว่างคอนโดใหญ่ๆบางหลัง อาจอยู่ใกล้กับโซนอาคารสำนักงาน ซึ่งระหว่างอาคารสำนักงานก็อาจมีห้างสรรพสินค้า และถัดไปก็เป็นแหล่งชุมชนแออัด อย่างนี้เป็นต้น สลับกันไปทั่วทั้งเมือง


ส่วนเรื่องภาษาต้องบอกว่า ในโซนอเมริกาใต้ ประเทศบราซิลเท่านั้นที่ใช้ภาษาโปรตุกีซ เหตุเพราะเคยเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ในขณะที่ประเทศอื่นๆใช้ สแปนิช กัน และก็น้อยคนมากที่จะรู้ภาษาอื่นๆอย่าง ภาษาอังกฤษ อิตาเลี่ยน สแปนิช หรือฝรั่งเศส ทั้งที่รากศัพท์และไวยกรณ์จะคล้ายๆกันแต่ก็เฉพาะคนที่มีความรู้หรือเรียนเพิ่มเติมมาเท่านั้นถึงจะมีความสามารถในการใช้ภาษาอื่น 


แต่โรงเรียนสอนภาษาบราซิลเลี่ยนโปรตุกีซก็มีมากมายในเมือง เซา เปาโล ฉั้นเลือกเรียนที่ Berlitz ซึ่งคุณภาพการสอนดีใช้ได้ทีเดียวและแพงเอาการอยู่ การเรียนการสอนมีทั้งแบบกลุ่มและแบบตัวต่อตัวทั้งในและนอกสถานที่ แต่ที่นี่หากเรียนภาษาโปรตุเกสก็จะเรียนและสอนกันด้วยโปรตุเกสเท่านั้น อาจลองเข้าไปเช็คเว็บไซต์ดู: 


Berlitz School - http://www.berlitz.com.br
หรือลองเช็คอีกทางเลือกหนึ่ง Fast Forward Language Institute - http://www.fastforward.com.br


เท่าท่ีทราบ การเรียนการสอนมีทั้งอัตราคิดแบบเป็นชั่วโมงหรือแบบเหมาจ่าย และขึ้นอยู่กับว่าจะเรียนแบบ Private หรือ Group จะเรียนที่โรงเรียนหรือที่บ้านของนักเรียน ซึ่งสนนราคาอาจเริ่มต้นตั้งแต่ 50Reais-100Reais per hour ก็ประมาณชั่วโมงละ 950THB-1,900THB ต่อชั่วโมง หรืออาจแพงกว่านั้นก็เป็นได้แล้วแต่ปัจจัยที่ว่ามาและแล้วแต่คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน


หรือถ้าจะจ้างบริษัทหรือเอเจนซี่ ที่รับดูแลเราตั้งแต่พาเราตระเวนหาที่อยู่อาศัย พาทัวร์ รวมไปถึงการสอนภาษาทั้งแบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม ก็มีให้เลือกมากมาย เช่น
BR Expat Destination Service
http://www.expat.com.br
Contact: Audrey Alves 
e-mail: audrey@expat.com.br
ราคาต้องสอบถามดู 


ทั้งหมดนี้คงเป็นข้อมูลคร่าวๆที่พอเป็นประโยชน์ได้บ้าง(ความจริงก็ไม่คร่าวนะ เล่าซะยาวเชียว!) แต่อย่าเข้าใจผิดว่าฉั้นเป็นบริษัททัวร์หรือผู้ชำนาญสถานที่ล่ะ เดี๋ยวมาขอให้พาทัวร์ล่ะก็แย่เลย...มีหวังคงหลงทางกลับบ้านไม่ถูกซะเอง!! ถือว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์กันมากกว่า ถ้าใครรู้หรือมีข้อมูลอื่นๆที่ต่างไป ก็ Comment มาบอกกันได้....จะยินดีมาก 


ขอให้โชคดีกับการมาเยือนและมาอยู่ใน เซา เปาโล, บราซิล ^^ 

วันศุกร์, กรกฎาคม 15, 2554

ไปเยือน เซา เปาโล, บราซิล

มีหลายคนมาสนใจมาเยือน เมือง เซาเปาโล ประเทศบราซิล อืม..ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า Welcome to Brazil!! คุณคือผู้โชคดีที่ได้มีโอกาสมาเยือนบราซิล เราขอยกนิ้วให้กับความกล้าหาญ!! >.<' เพราะการตัดสินใจมาที่นี่ นอกจากค่าเครื่องบินที่แพงหูฉี่แล้ว ยังใช้เวลาเป็นวันอีกต่างหากกว่าจะมาถึง และมีไม่กี่เส้นทางที่จะมาได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมาต่อเครื่องที่ยุโรป ตะวันออกกลาง หรือ อาฟริกา ยังไงก็ตาม ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม ดื่มน้ำเยอะๆเพื่อป้องกันอาการ jet lag และพร้อมสำหรับการนั่งเครื่องบินเที่ยวละประมาณ 8-12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ 

แม้ฉั้นจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร แต่ก็อยากเล่าให้ฟังจากประสบการณ์ส่วนตัวของการมาอยู่และมาเที่ยว ซึ่งก็หวังว่ามันคงพอเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยากมาเที่ยวที่บราซิลบ้้าง ซึ่งต้องขอบคุณหลายๆคนที่ฝากคำถามไว้ในอีเมลล์ ทำให้ฉั้นเองตระหนักยิ่งกว่าเดิมว่าการมาเที่ยวที่เซาเปาโลหรือการมาทำภาระกิจที่นี่ ช่างแตกต่างจากการท่องเที่ยวในเมืองอื่นๆประเทศอื่นๆเอาซะจริง ในความคิดส่วนตัวของฉั้น เมื่อมาถึงแล้วจะพบว่ามีสิ่งที่ต้องทำใจอยู่หลายอย่าง ทั้งภาวะ "Culture Shock" เพราะสังคมคนบราซิล มีอิสระทางการพูด การแสดงออก ซึ่งแตกต่างกับคนไทยและวัฒนธรรมไทยมาก

เซาเปาโลเป็นเมืองธุรกิจที่สำคัญเมืองหนึ่งของบราซิลที่มีผลต่อเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ เช่น ริโอ เดอ จาเนยโร ผู้คนในเซาเปาโล จะค่อนข้างถือว่าเป็นคนทำมาหากิน จริงจัง เคร่งเครียด และทำงานหนัก แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นคนสบายๆ ขี้เล่น เป็นมิตร และยิ้มแย้มแจ่มใส  แต่อย่าเพิ่งวางใจ เพราะหนุ่มๆที่นี่ค่อนข้างเจ้าชู้ และ สาวๆที่นี่ค่อยข้างอารมณ์ร้อน ที่ชัดเจนที่สุดคือ คนบราซิลจะตรงไปตรงมา ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่อ่อนน้อมหรือขี้เกรงใจใคร ความแตกต่างระหว่างคนมีตังค์กะคนระดับล่างจะต่างกันมาก ทั้งรูปร่าง หน้าตา ลักษณะท่าทาง นิสัยใจคอ รวมทั้งความเป็นอยู่ (แต่จะว่าไปก็เหมือนในสังคมไทยแหละ)

ตอนนี้ภาวะ "เงินเฟ้อ" ก็กำลังระบาด ไม่รู้ว่าผลมาจากการคอร์รัปชั่น หรือ อยากให้สังคมแตกต่างมากขึ้นอีกกันแน่ เพราะราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆๆๆๆๆ ระบบการคมนาคมก็ไม่ค่อยจะทันสมัย ไม่มีรถไฟฟ้า และก็ไม่เห็นมีทางด่วนซักกะเส้น เห็นแต่รถติดกระหน่ำทุกวันช่วงเวลาเร่งด่วน(Rush hour) ซึ่งยิ่งรถติดมากกลับเห็นผู้คนยิ่งซื้อรถส่วนตัวมาใช้้เพิ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงกฏ "โฮจิซีโอ้" ที่กำหนดให้รถบางเลขทะเบียนห้ามวิ่งในช่วงวันและเวลาเร่งด่วน และเพื่อเลี่ยงการต้องไปใช้ระบบขนส่งมวลชนที่แน่นขนัดไม่ค่อยจะปลอดภัยและไม่สะดวกสบายซักเท่าไรอย่างรถไฟใต้ดินและรถเมล์ ส่วนแท๊กซี่ที่แม้จะปลอดภัยกว่าแต่ค่าโดยสารแพงหูฉี่ ระหว่างเมืองแต่ละเมืองในบราซิลไม่มีรถไฟให้โดยสาร มีรถทัวร์และเครื่องบิน แต่คนเซาเปาโลส่วนใหญ่มักใช้รถส่วนตัว และขับรถออกนอกเมืองไปเที่ยวชายหาดใกล้ๆกันเกือบหมดในช่วงวันหยุดยาวๆ ทิ้งให้เซาเปาโลเงียบกริบกันเลยทีเดียวเพราะในเมืองไม่มีอะไรให้ตื่นตาตื่นใจมากมาย นอกจากเดินเล่นห้างนู้นห้างนี้กันไป 

การดูแลตัวเองเมื่อมาใช้เวลาอยู่ที่นี่ การระมัดระวังตัวถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่นการไม่เดินไปไหนมาไหนคนเดียวในช่วงกลางค่ำกลางคืน การไม่พกเงินสดเยอะๆ การขับรถเองที่นี่ถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะถนนหนทางไม่มีป้ายภาษาอังกฤษและผู้คนไม่พูดภาษาอังกฤษ ไม่่ค่อยมียูเทิร์นให้กลับรถ  รถราก็ไม่ค่อยจอดให้คนข้าม ค่าที่จอดรถก็แพง แถมหากไปจอดในที่ที่ไม่แน่ใจว่าปลอดภัยรึป่าวและรถไม่มีสัญญาณกันขโมยหรือกระจกติดฟิล์มที่แน่นหนา อาจต้องระวัง เพราะดีไม่ดีกลับมาอีกทีกระจกอาจโบ๋และข้าวของในรถอาจหายไปหน้าตาเฉย อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า 

เรื่องอากาศ ที่นี่ก็มีร้อน ฝน หนาว แต่ถ้าพูดให้หรูก็มี Spring, Summer, Autumn, Winter (หรูมั้ย หรูยัง?!) เราขอเริ่มจากช่วง Autumn เพราะเป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งฉั้นชอบอากาศช่วงนี้มาก ว่าไปใบไม้ก็ไม่ได้ร่วงอะไรหรอก แต่อากาศจะเริ่มเย็นขึ้น อุณภูมิอยู่ประมาณ 15-25 องศา ช่วงประมาณเดือน เมษา-มิถุนา ตามมาด้วยฤดูหนาวซึ่งก็หนาวเหน็บได้ใจ แต่แปลก...ที่อากาศที่เซา เปาโล เปลี่ยนแปลงขึ้นลงสลับไปมา เดี๋ยวก็เย็นจัด แล้วก็ฝนตกเล็กน้อย แล้วเดี๋ยวก็อุ่นขึ้นหน่อย ไม่นานก็กลับมาเย็นจัดอีกละ ดูไม่ค่อยคงที(เหมือนอารมณ์คนซะจริง!!^^) ฤดูหนาวอยู่ช่วงประมาณ กรกฎา-กันยา อุณหภูมิประมาณ 12-20 องศา (ทางใต้ของบราซิลเท่านั้นที่จะหนาวจัดจนเป็นน้ำแข็ง แต่ไม่ถึงขั้นมีหิมะนะ) จากนั้นก็เข้าสู่ช่วง Spring หรือฤดูใบไม้ผลิ คือประมาณ ตุลา-ธันวา  ก็็อีกล่ะ..ใบไม้ไม่ได้ผลิอะไรหร้อก เพียงแต่อากาศจะเริ่มอบอุ่นขึ้นตามลำดับเพื่อเตรียมตัวต้อนรับหน้าร้อนที่ทุกคนรอคอย แต่ที่แย่หน่อยคือช่วงต้นปีจะตามมาด้วยฝนตก โดยเฉพาะปลายธันวา-ต้นมกรา ฝนอาจตกหนักถึงขั้นน้ำท่วมดินถล่มกันเลยทีเดียว ก็ต้องระวัง!! ช่วง มกรา-มีนา อากาศจะร้อนเอาการ ดังนั้น การเตรียมเสื้อผ้าเพื่อมาที่นี่ก็เน้นที่เสื้อผ้าใส่สบายๆก็เพียงพอ ในหน้าร้อนก็ใส่น้อยชิ้นได้ ในหน้าหนาวก็เพิ่มจำนวนชิ้นเข้าไปหน่อย เสื้อกันหนาวก็ไม่ต้องถึงกับต้องเตรียมเสื้อขนสัตว์หนาๆหรือรองเท้าบูตยาวถึงน่องอะไรให้ยุ่งยาก เพราะใน เซา เปาโล ไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดเกินไป ถือว่าอากาศดี กำลังสบายๆ

เรื่องการติดต่อสื่อสาร หากมาที่นี่แค่ไม่นาน การเปิดโรมมิ่งบนมือถือก็ใช้ได้ เพียงแต่อัตราค่าโทรคงแพงหน่อย (เช็คให้ดีก่อนมา) แต่หากมี Skype ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการโทรผ่านเน็ทหรือ Voice over IP แค่ Download Skype ลงเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วก็เปิด account เพื่อซื้อ Package ค่าโทรต่างประเทศตามโปรโมชั่นที่ถูกใจ ก็โทรกลับเมืองไทยผ่านเน็ทได้สบายๆนาทีละไม่เกิน 90cent เห็นจะได้ หรือซื้อแบบรายเดือนก็ไม่กี่ USD เท่านั้น แถมจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้อีกด้วย เพียงแต่ต้องมีอินเตอร์เน็ทใช้ แต่หากอยู่นาน ต้องการใช้มือถือ ที่นี่ก็มีหลาย Operator เช่น TIM, VIVO, Claro, Oi เป็นต้น มีทั้ง Package แบบรายเดือนและเติมเงิน แต่การซื้อเบอร์ใหม่ ต้องไปสมัครและกรอกแบบฟอร์มที่เคาน์เตอร์(ตามห้างฯ) ยุ่งยากหน่อยเพราะใช้เอกสารบางอย่าง(ที่นักท่องเที่ยวไม่มี)และก็เป็นภาษาโปรตุเกสเท่านั้น! แต่หากเปิดบริการได้แล้วการเติมเงินก็สามารถเติมได้ตามร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป หรือเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า 

การมาคนเดียว ควรจองโรงแรมและนัดคนมารับให้เรียบร้อย ไม่แนะนำให้มาแบบ Bag Packing เพราะที่นี่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว หากมาติดต่อธรุกิจก็ควรหาที่พักที่ใกล้ๆกับบริษัทที่มาติดต่อเอาแบบเดินถึงกันได้จะดีมาก จะได้สะดวกและประหยัดค่าแท๊กซี่ที่แพงใช่ย่อย 


เรื่องไฟฟ้าที่นี่ เค้าใช้ไฟประมาณ 110V-120V กำลังจะน้อยกว่าของเราครึ่งนึง ซึ่งเต้าเสียบจะมีทั้งแบบสองรูและสามรู จะใช้ได้กับปลั๊กสองขาแบบขาแบนๆของเรา แต่ถ้าเป็นปลั๊กสองขาหรือสามขาชนิดขากลมๆนี่ส่วนใหญ่ขาเราจะกลมและใหญ่กว่ารูเค้าจะเสียบไม่เข้า แต่ถ้าขากลมแต่ขาเล็กก็พอเสียบได้(เอ๊ะ..ฟังดูยังไงยังไง!!) ดังนั้นต้องเตรียม Adapter แบบขาแบนมาดีที่สุด แต่ล่าสุดดันมีสามรูแบบใหม่ออกมา ถ้าโชคไม่ดี ไปเจอสามรูรุ่นใหม่จะไซส์เท่ารูยุโรป ถ้าไม่มี Adapter แบบ International ติดมาด้วย ก็คงต้องรูใครรูมัน เอ้ย ตัวใครตัวมันล่ะคราวนี้!!

เรื่องภาษาโปรตุเกสพื้นฐานที่ควรรู้แบบฉบับย้อย่อ... 
Bondia-บงเจีย(สวัสดีตอนเช้า), Boa tarde-บัวตาฮาจิ(สวัสดีตอนบ่าย), Boa noite-บัวน้อยจิ(สวัสดีตอนค่ำ หรือ ราตรีสวัส), Tu do bem?-ตูโดเบง(สบายดีมั้ยหรือเป็นยังไงบ้าง), Obrigado-โอบริกาโด้(ขอบคุณครับ), Obrigada-โอบริกาด้า(ขอบคุณค่ะ) Tabon-ต๊ะบง (OK), Ate logo-อาแต ลอกุ (ลาก่อน), tchau tchau-เชาๆ(บ๊ายบาย) ^^ 

เรื่องการแลกเปลี่ยนเงิน ที่นี่ไม่มีเงินสกุล THB (ไทยบาท) ดังนั้นต้องแลกเงินสกุล USD มาก่อน แล้วมาแลกเป็น Reais ที่นี่ ซึ่ง Banks&Exchange ก็มีหลายที่ แต่แนะนำ Citibank กับ HSBC และถ้าให้สะดวกก็ควรแลกจากใน Airport ชั้น Arrival Floor เพราะแลกตามห้างฯกับแถวย่านธุรกิจอย่าง ถ.เปาลิสต้า จะหายากและค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง หรือตามโรงแรมดีๆบางแห่งก็มีให้แลก ประเภทบัตรเครดิตแบบกดเงินสดจาก ATM ที่ใช้ในตปท.ได้ก็สามารถใช้ได้ หรือจะใช้จ่ายด้วยบัตร visa หรือ mastercard ที่ใช้ในตปท.ได้ ก็ใช้ได้เหมือนกัน **เพียงแต่อย่าชะล่าใจ ต้องเช็คดีๆเพราะอาจไม่ทุกที่ที่จะรับ** 

หากใครต้องการซื้อของฝากกลับบ้าน อืมม..ที่นี่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวซะด้วย เลยไม่ค่อยมีของ Souvenir หรือของฝาก แม้แหล่งช้อปปิ้งจะมีเยอะแต่ก็แพงใช่ย่อย แต่ถ้าจะซื้อของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆที่มีสัญลักษณ์ประเทศบราซิลคงหนีไม่พ้นใน Duty Free แอร์พอร์ตหรือไม่ก็ลองอ่านในโพสต์ Shopping in Sao Paulo... ดูก่อน เผื่อจะเป็นประโยชน์

ในเรื่องของวีซ่า เพราะการมาเที่ยวบราซิลสำหรับคนไทยไม่ต้องใช้วีซ่า แต่หากมีภาระกิจต้องอยู่ที่บราซิลนานกว่า 90 วัน(ตาม Valid date ของวีซ่านักท่องเที่ยว) ก็จะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง ในการณ์นี้ขอแนะนำให้สอบถามจากสถานทูตบราซิลในประเทศไทยมาก่อนจะดีกว่า เพราะจะง่ายกว่ามาดำเนินการที่นี่..แบบว่าง่ายกว่ามากมายก่ายกองจนไม่รู้จะบรรยายยังไงอ่ะ...เพลีย!! -_-'

การขอวีซ่าเพื่ออยู่นานๆมากกว่า 3 เดือนหรืออยู่ถาวร ไม่แนะนำให้มาดำเนินการที่นี่เลยจริงๆ เพราะชาวต่างชาติอย่างเราไม่ชำนาญด้านภาษา และไม่รู้ขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานราชการที่นี่ และจำเป็นต้องจ้างเอเจนซี่ดำเนินการให้ซึ่งค่าใช้จ่ายก็แพงมาก แถมไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ สำหรับวีซ่าอยู่ถาวรอย่างต่ำต้องรอประมาณ 6 เดือนในการขออนุมัติ บางคนรอเป็นปียังไม่ได้วีซ่าตัวจริงเลย ได้มาแค่แสตมป์ในพาสปอร์ตพร้อมกับข้อความภาษาโปรตุกีซระบุว่าสามารถอยู่ได้ถาวร ส่วนวีซ่าตัวจริงที่ว่า ทางกรมตำรวจ หรือ Policia Federal จะเป็นผู้อนุมัติและลงทะเบียนให้ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าจะได้เมื่อไรและมันหน้าตาเป็นยังไง! สรุปว่า บางคนรอเป็นปีจนเผลอๆย้ายออกไปจากประเทศกลับบ้านกลัับช่องของตัวเองไปแล้ว ยังไม่ได้วีซ่าตัวจริงเลย! ส่วนเอกสารทีี่ต้องใช้ก็ต้องแปลเป็นภาษาโปรตุกีซด้วยนะ แต่ถ้าจะป้องกันความสับสน เพราะคนบราซิลไม่รู้ภาษาไทยและคนไทยไม่รู้ภาษาโปรตุกีซ เอกสารก็ควรจะแปลเป็นภาษาอังกฤษเผื่อไว้อีกฉบับ เรียกว่า 'กันเหนียว' เอกสารทุกอย่างต้องผ่านการรับรองความถูกต้องจากทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสถานทูตไทยในบราซิล แถมเอกสารบางอย่างที่ออกในประเทศไทยก็ต้องผ่านการรับรองจากสถานทูตบราซิลในไทยอีกด้วย ยุ่งยากดีมั้ย ซึ่งกระบวนการขั้นตอนที่ว่าทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายการในการเตรียมการมากมายหลายอย่างจนน่าปวดหัว ซึ่งขอเล่าต่อในโพสต์ถัดไปแล้วกัน ตอนนี้ขอไปกินพาราเซตามอลก่อน หุ หุ!! 

วันอังคาร, กรกฎาคม 05, 2554

เมืองไทยของฉัน ความภูมิใจของฉัน

วันนี้เห็นประเด็นร้อนๆที่ร้อนยิ่งกว่าอากาศในเมืองไทย คือ ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ แถมได้จากการเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ชนะขาดลอย กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ฉั้นควรจะภูมิใจใช่มั้ย คำตอบคือ "ใช่" ฉั้นควรภูมิใจเพราะนี่คือการปกครองระบอบประชาธิปไตย 


พวกฝรั่งเค้าวิจารณ์กันว่า การปกครองแบบประชาธิปไตย จริงๆแล้วมันไม่เหมาะกับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศโลกที่สามหรอก ฉั้นก็ว่างั้น เพราะต้องตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก เราจะรู้ได้ไงว่า เสียงข้างมาก เป็นเสียงแห่ง "คุณภาพดี" หรือเสียงแห่ง "คุณภาพด้อย" เพราะหนึ่งเสียงของคนมีความรู้สูงและทำงานหนัก ก็มีค่าเท่ากับหนึ่งเสียงของตาสีตาสา ยายมียายมา! และประเทศกำลังพัฒนาแปลว่ามันยังไม่พัฒนา เสียงข้างมากของประเทศที่ยังไม่พัฒนามันจะสามารถใช้ในการพัฒนาประเทศได้ยังไง เออ..พูดเองยังงงเอง!! 

แต่ในเมื่อเรื่องของการเมือง เมื่อประชาชนตาดำๆอย่างเราได้ทำหน้าที่ไปแล้ว คือการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงของตัวเอง ออกจากคูหาเลือกตั้งแล้วทุกอย่างก็กลายเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ในวงการการเมืองต่อไป แต่ครั้งนี้หน้าที่ของเรากลับไม่จบแค่นั้น ยังมีเรื่องของจิตใจและมิตรภาพที่ยังต้องดูแลกันต่อ จริงๆแล้วมันไม่ผิดอะไรเลยกับการที่แต่ละคนเห็นแตกต่าง ไม่ผิดอะไรเลยที่แต่ละคนจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าควรเชื่อ ไม่ผิดอะไรเลยที่แต่ละคนมีความคิดเห็นส่วนตัวที่อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะสำหรับส่วนรวม ไม่ผิดอะไรเลยที่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจตามวิจารณญาณของตัวเอง แต่สำหรับฉั้นสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปก็คือ ผิดกับถูก ที่เรารู้ดีว่ามันแตกต่างกันยังไงแต่เป็นไปได้ที่เราอาจตัดสินมันด้วยบรรทัดฐานที่ต่างไปเพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง ทำให้ในวันนี้บางคนที่เรารู้จักหรืออาจเป็นเราเอง อาจมีอาการแสดงความไม่พอใจกับเหตุการณ์บางเหตุการณ์เกี่ยวกับการเมืองอย่างเปิดเผยและชัดเจน ในขณะที่บางคนหรืออาจเป็นเราเอง แอบซุ่มดูอยู่เงียบๆ แอบต่อต้านอย่างเป็นนัยๆ หรือแอบวิจารณ์อย่างเบาๆ เพราะไม่แน่ใจว่าตกลงแล้ว สิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันผิดหรือมันถูกกันแน่ หลายคนเสียเพื่อนไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อพบว่า 'เพื่อน' สนับสนุนพรรคการเมืองคนละฝ่าย อารมณ์เจ็บปวดลึกๆที่อยู่ภายในใจ ที่ต้องเห็นบ้านเมืองโดนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์โดนดูถูก คนไม่มีความรู้เพียงพอเข้ามาบริหารประเทศ คนที่ขึ้นชื่อว่ามีความผิดฐานโกงกินชาติบ้านเมืองยังคงได้รับการสนับสนุนให้หนีความผิดและยังมีสิทธิ์ได้บริหารประเทศต่อไป ฝ่ายที่ความเจ็บปวดแบบนี้ซึมลึกเข้าสู่จิตใจอาจจะไม่สามารถแยกแยะประเด็นได้เหมือนเมื่อก่อนว่าการเมืองก็คือการเมือง มิตรภาพก็คือมิตรภาพ เพราะมันไม่ใช่แค่ความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็น 'เพื่อน' หรือคนที่เรารักไม่ร่วมทุกข์ไปด้วยกันแถมยังสนับสนุนการทำลายล้าง ในขณะที่อีกฝ่ายอาจมองว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่พื้นที่ต่างจังหวัดและคนต่างจังหวัดจะได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับตัวเอง


สำหรับฉั้น เหตุการณ์ที่วุ่นวายอาจกลายเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ผิดเพี้ยน ไปบ้าง แต่ยังไงก็ตามในความเชื่อเรื่องพื้นฐานจิตใจของคนไทย ความเป็นคนใจดี ประนีประนอม การอยู่แบบพี่แบบน้อง แบบครอบครัวเดียวกันมาแต่ไหนแต่ไร สิ่งนี้หาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้วบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะในโลกอีกฝั่งที่ฉั้นอาศัยอยู่ ไม่มีใครต้องการเป็นพี่เป็นน้องกับใคร ไม่มีใครต้องการเป็นลุงป้าน้าอาของใคร ไม่มีใครต้องการเป็นญาติโกโหติกาของกันและกันเพราะไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกันหรือบางทีแม้จะมาจากครอบครัวเดียวกันก็เถอะ ความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน เป็นแค่เพื่อนคนหนึ่ง แค่คนรู้จักกัน แค่ทำงานด้วยกัน มาเจอะเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วก็ร่ำลาจากกันไป ไม่มีใครให้ความสำคัญเรื่องอายุที่ต่างกันแล้วต้องเคารพกัน ไม่มีใครให้โอกาสใครได้ทำผิดพลาดแล้วมานั่งขอโทษเพื่อขอให้ให้อภัยกันซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีใครมีน้ำใจและจิตใจอ่อนโยนขนาดนั้น นอกจากคนไทย เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยสิ่งๆนี้ 


ก็เพราะเราคือ คนไทย แม้บางครั้งเราอาจต้องเดินถอยหลังบ้าง...เพราะเสียงของคนส่วนใหญ่อยากให้เป็นอย่างนั้น เราอาจต้องยอมรับการสูญเสียบางอย่าง(หรือหลายอย่าง) สูญเสียคนที่เราเชื่อว่าเค้าเป็นคนพื้นฐานจิตใจดี สูญเสียเวลาในการพิสูจน์คนดี คนเลว สูญเสียชื่อเสียงและรายได้ของประเทศชาติ สูญเสียความหวัง สูญเสียพลัง สูญเสียกำลังใจ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสูญเสียไม่ได้ คือ จิตวิญญาณความเป็นคนไทย ไม่ว่าจะรวยจะจน จะสุภาพหรือหยาบคาย มิตรภาพระหว่างคนไทยด้วยกันไม่มีใครสามารถสัมผัสมันได้ หากไม่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของความเป็นคนไทย และไม่ได้เกิดและเติบโตในประเทศไทย วันนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่ฉั้นจะสำนึกไว้เสมอคือไม่มีใครจะรักประเทศไทยได้เท่ากับคนไทย สำหรับคนที่เมื่อมีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง จงใช้โอกาสนี้พิสูจน์ และสำหรับใครที่มีโอกาสได้เป็นผู้ให้ จงให้โอกาสกับคนที่เค้ากำลังต้องการ


สำหรับฉั้น ไม่มีเงื่อนไขใดๆให้เปลี่ยนใจ ยังไงก็รักเมืองไทยอยู่ดี...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...